ฟ้าทะลายโจร กับ โควิด 19

สรรพคุณหลักๆ ของ “ฟ้าทะลายโจร” ได้แก่ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่เมื่อทานเข้าไปแล้วสามารถสร้างความสมดุลให้ร่างกายได้ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้โดยตรง แต่จะเป็นยาเย็นที่ช่วยทำให้มีการหลั่งสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ ที่จะช่วยป้องกันเคลือบให้ไวรัสโจมตีเข้าถึงปอดได้ยากขึ้น ทำให้ร่างกายจะต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านั้นได้และช่วยให้ระบบทางเดินหายใจมีภูมิต้านทานมากขึ้น

ปัจจุบันจีงมีการนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ป้องกันและรักษาโควิดกันมากขึ้น

วิธีรับประทานฟ้าทะลายโจร

1. รับประทานเพื่อป้องกัน / กลุ่มเสี่ยง

คนทั่วไปที่ยังไม่ป่วยสามารถรับประทานฟ้าทะลายโจรได้วันละ 1 แคปซูล โดยกินต่อเนื่องกัน 5 วันต่อสัปดาห์หรือวันเว้นวัน ใช้ได้ในระยะเวลา 3 เดือน ในช่วงที่มีไวรัสแพร่ระบาด โดยยาฟ้าทะลายโจร 1 แคปซูล มีสารสำคัญ Andrographalide ปริมาณ 12 มิลลิกรัม (อ้างอิงงานวิจัย ใช้ Andrographolide วันละ 11.2 mg พบว่าช่วยลดการเป็นหวัดลง 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก)

2. รับประทานเมื่ออาการ

  • สำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 12 ปีขึ้นไป) รับประทาน 4 ครั้ง ครั้งละ 3 แคปซูล คือ หลังอาหารเช้า หลังมื้อกลางวัน หลังมื้อเย็น และก่อนนอน จนอาการดีขึ้น และควรกินยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน (ปกติไข้หวัดธรรมดาจะหายใน 1-2 สัปดาห์)
  • ส่วนในเด็กอายุ 4-11 ปี รับประทาน 1-2 แคปซูล ให้กินได้ไม่เกิน 10 วัน (ยังไม่มีการศึกษาในขนาดการป้องกัน)

ข้อห้ามรับประทานฟ้าทะลายโจร

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร
  • ห้ามใช้ในผู้มีความผิดปกติของตับและไต
  • ไม่ควรใช้ขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทําให้แขนขาชาหรืออ่อนแรง
  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เนื่องจากยามีฤทธิ์เย็น
  • กรณีกินเพื่อแก้ไข้เจ็บคอ หากผ่านไป 24 ชั่วโมงแล้วไม่ดีขึ้นควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
  • ระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดัน เพราะอาจเสริมฤทธิ์กัน
  • ระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่มและยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น วาฟาร์ริน แอสไพริน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่ได้รับยากดภูมิเพราะสมุนไพรจะไปลดฤทธิ์ยา

อาการไม่พึงประสงค์

อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้

ที่มา : โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI), สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (CGI), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

บทความที่น่าสนใจ

การตรวจโควิด 19 มีกี่แบบ

ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด 19