ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ มักจะเกิดหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ แต่มันสำคัญยังไง วันนี้ iBaby มีคำอธิบายมาฝากกันค่ะ
การวินิจฉัยคือ
- มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีโปรตีนในปัสสาวะ
สาเหตุ
สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะเกิดจากสารบางอย่างที่หลั่งออกมาจากรก
กลุ่มเสี่ยง
- คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- มีโรคอ้วน หรือ น้ำหนักตัวเพิ่มเร็วระหว่างการตั้งครรภ์
- มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต
- ตั้งครรภ์แฝด
อาการ
สำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยมีอาการ แต่เมื่อมาฝากครรภ์ก็จะพบว่ามีความดันโลหิตสูงขึ้น หรือถ้าอาการรุนแรงก็จะเกิดอาการปวดหัว ตาพร่า จุกแน่นลิ้นปี่ มีบวมที่แขนหรือขา ซึ่งหลังจากที่คุณหมอตรวจวัดความดันแล้วจะตรวจปัสสาวะเพื่อให้ทราบว่า มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะเกินกว่าค่าปกติหรือไม่ มีการเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับหรือไต ค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือด ความผิดปกติของภาวะต่างๆ เหล่านี้ มีความสัมพันธ์อันอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อาการชัก น้ำท่วมปอด ทำให้หายใจลำบาก ปัสสาวะไม่ออก ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ
สำหรับทารกในครรภ์ อาจเกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และเสียชีวิต รกลอกตัวก่อนกำหนด
การรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ ถ้าอายุครรภ์ครบกำหนดแล้วเราก็แนะนำให้เร่งคลอดหรือทำการผ่าตัดคลอดในทันที เนื่องจากการคลอดบุตรจะช่วยหยุดภาวะนี้ได้ และทำให้มารดาปลอดภัย แต่ถ้าอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคุณหมอ ว่าอาการนั้นรุนแรงหรือไม่ ถ้าเป็นขั้นรุนแรงเราสามารถให้ยากระตุ้นให้ปอดของทารกทำงานได้ดีขึ้นก่อนที่จะคลอดได้ และยังต้องให้ยาแมกนีเซียมเพื่อป้องกันการชัก ระหว่างที่รอต้องเฝ้าดูอาการภาวะแทรกซ้อน เช่นการทำงานของตับ ไต และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
ภาวะครรภ์เป็นพิษป้องกันอย่างไร
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ สามารถตรวจโดยดูว่า เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกมีความต้านทานของเส้นเลือดหรือไม่ รวมทั้งเจาะเลือดบางตัว เช่น placental growth factor และ pregnancy associated plasma protein A (PAPP-A) เพื่อดูว่าเส้นเลือดในรกเจริญฝังตัวในมดลูกดีหรือเปล่า ก็จะช่วยให้สามารถทำนายโอกาสเสี่ยงในการเกิดได้ และอาจพิจารณาให้ยาแอสไพรินในขนาดต่ำๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดและช่วยลดภาวะแทรกซ้อน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- เพราะอะไร? โรคคางทูมถึงส่งผลต่อสเปิร์ม
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน กับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ต่างกันอย่างไร
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน คืออะไร
- ฮอร์โมน P4 หรือโปรเจสเตอโรน สำคัญอย่างไร
- มะเร็งเต้านม ไม่เลือกเพศ
มีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือนัดหมายแพทย์ ติดต่อคลินิก iBaby ได้ที่ช่องทางด้านล่าง
Line: @iBaby หรือ https://lin.ee/xxIlgyJ
Tel: 021688640-43
Email: info@iBabyFertility.com
Website: https://ibabyfertility.com
WeChat: iBaby_Fertility