1. อะไรที่บอกว่าคู่สมรสมีบุตรยากหรือมีลูกยาก
ตามนิยามของภาวะมีบุตรยากคือ การที่คู่แต่งงานแล้วครบ 1 ปี โดยที่ต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งแล้วยังไม่มีบุตร ถือว่าเป็นผู้มีบุตรยากแต่ปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพฝ่ายหญิงและฝ่ายชายว่ามีภาวะอะไรที่ทำให้มีบุตรยาก จึงไม่จำเป็นต้องรอให้ครบปีตามนิยาม เช่น การตรวจพบเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง ก็ถือว่าคนนั้นน่าจะมีภาวะมีบุตรยาก
2. การตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากหรือมีลูกยากมีอะไรบ้าง
ฝ่ายหญิง มีการตรวจหลักๆ คือ อัลตราซาวน์เพื่อดูความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ บางคนมีเนื้องอก มีถุงน้ำ หรือการตรวจส่องกล้องโพรงมดลูก เพื่อดูว่าภายในโพรงมดลูกมีติ่งเนื้อหรือผังผืดที่อาจจะทำให้การฝังตัวอ่อนไม่ได้หรือแท้งได้ง่ายหรือไม่ หรือการตรวจฉีดสีเอกซ์เรย์ เพื่อดูการอุดตันของท่อนำไข่
ฝ่ายชาย ต้องได้รับการตรวจเชื้ออสุจิ เพื่อดูว่ามีจำนวน การเคลื่อนไหว และรูปร่าง ที่ผิดปกติมากน้อยแค่ไหน ในปัจจุบันยังมีการตรวจเพิ่มเติมคือ DNA Fragmentation (ดีเอ็นเอแตกหัก) ของเชื้ออสุจิเพื่อดูความสมบูรณ์ของอสุจิในระดับดีเอ็นเอ ซึ่งมีผลต่อการปฏิสนธิและการได้ตัวอ่อนที่ดี
การตรวจที่กล่าวมาเป็นเพียงการตรวจเบื้องต้น อาจจะมีการตรวจพิเศษนอกเหนือจากนั้นขึ้นอยู่กับประวัติการมีบุตรยากและประวัติการรักษาของผู้ป่วย
3. การรักษาภาวะมีบุตรยากมีอะไรบ้าง
การรักษาขึ้นอยู่กับประวัติการมีบุตรยากและการรักษาที่ผ่านมา และ ความผิดปกติหลังจากตรวจเบื้องต้นมาแล้ว
บางโรคที่ตรวจพบและเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยาก อย่างเช่น ช็อกโกแลตซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่, เนื้องอกมดลูก, ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก อาจจะต้องทำการผ่าตัดแก้ไขก่อนเริ่มการรักษา หรือบางคนแก้ไขแล้วสามารถมีเองได้ตามธรรมชาติ
ผู้มีบุตรยากที่มีปัญหาไม่มาก อาจจะลองนับวันไข่ตกดูก่อน หรือบางคนอาจจะใช้ยากระตุ้นไข่แบบรับประทาน แล้วนับวันไข่ตกดู
บางคนลองใช้วิธีธรรมชาติแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็อาจจะใช้วิธีการฉีดเชื้อหรือการผสมเทียม (IUI) โดยการที่นำเชื้ออสุจิฉีดเข้าโพรงมดลูกในวันที่เรากำหนดให้ไข่ตก
ถ้าฉีดเชื้อแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีภาวะท่อนำไข่อุดตัน ก็จะต้องทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) (สมัยก่อนเรียกว่าทำกิ๊ฟ แต่การทำกิ๊ฟเป็นอีกเทคนิคที่ปัจจุบันไม่ค่อยใช้กันแล้ว) ซึ่งเป็นการเอาไข่กับอสุจิมาผสมกันภายนอกร่างกาย โดยการกระตุ้นไข่ฝ่ายหญิงให้มีจำนวนเยอะในระดับที่เหมาะสมแล้วทำการเก็บไข่เพื่อผสมกับอสุจิในวันนั้นเลย จากนั้นเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อมาฝังในมดลูกต่อไป
4. ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) ทำให้มีบุตรยากยังไง
ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดหนึ่งที่เกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) แล้วไปฝังตัวที่รังไข่และต่อมาพัฒนาเป็นถุงน้ำที่มีของเหลวคล้ายช็อกโกแลตอยู่ข้างใน ซึ่งภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นี้จะทำให้คุณภาพไข่น้อยลง บางคนต้องทำการผ่าตัดอาจทำให้จำนวนไข่ในรังไข่ลดลงด้วย นอกจากนั้นยังทำให้โอกาสการฝังตัวที่มดลูกของตัวอ่อนลดลงโดยเฉพาะคนที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก
5. เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Fibroid) มีผลต่อภาวะมีบุตรยากหรือไม่
ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และโดยเฉพาะตำแหน่งของเนื้องอก ซึ่งเนื้องอกมดลูกอาจจะทำให้การฝังตัวในมดลูกไม่ได้ หรือมีภาวะแท้งได้ง่าย
วิธีการรักษาคือ อาจจะให้ยาลดขนาดเนื้องอก ซึ่งมักไม่ค่อยได้ผลดี สุดท้ายถ้าคุณหมอประเมินแล้วมีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนมากก็จะต้องได้รับการผ่าตัด
6. PCOS คืออะไร
PCOS คือ ภาวะไข่ตกยาก หรือบางคนมีภาวะที่มีไข่เยอะ คือภาวะที่มีการทำงานของระบบสมดุลและฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติทำให้มีรอบเดือนที่ห่างกว่าปกติ และมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากกว่าผู้หญิงปกติ โดยอาจจะแสดงออกเป็น การมีสิว หน้ามัน มีขนตามแขนขา หรือแม้กระทั่งหนวด มากกว่าผู้หญิงทั่วไป การวินิจฉัยก็จะประกอบกับการอัลตราซาวน์ซึ่งจะพบว่ามีจำนวนไข่ที่เยอะและมีการเรียงตัวคล้ายสร้อยคอรอบรังไข่ นอกจากนั้นการตรวจระดับฮอร์โมนบางอย่างก็อาจจะช่วยในการวินิจฉัยร่วมด้วย ซึ่งคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นภาวะไข่ตกยาก (PCOS) ก็มักจะมีจำนวนไข่เยอะแต่คุณภาพโดยรวมอาจจะไม่ค่อยดีนัก
การรักษาภาวะดังกล่าวโดยทั่วไปจะแนะนำให้ลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักตัวเยอะเมื่อเทียบกับความสูง (BMI สูง) และการรับประทานยา Metformin ซึ่งมีหลักฐานว่าช่วยปรับสมดุลและทำให้ไข่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
7. กินยาคุมกำเนิดนานหลายปีทำให้มีลูกยากหรือไม่
การกินยาคุมกำเนิดเพื่อคุมให้ไม่มีการตกไข่และทำให้ภาวะผนังของมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัวอ่อน ซึ่งกลไกของการคุมกำเนิดนี้จะหมดไปเมื่อเราหยุดยาคุมกำเนิด หลังจากนั้นผู้หญิงจะกลับมามีรอบเดือนได้ตามปกติ แปลว่ามีการตกไข่ที่ปกติ (ในรายที่รอบประจำเดือนปกติก่อนการกินยาคุมกำเนิด) และสามารถมีลูกได้
8. การฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก หรือ ผสมเทียม (IUI) มีโอกาสสำเร็จมากไหม
การฉีดเชื้อโดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยากระตุ้นไข่แบบรับประทานซึ่งมักจะทำให้ไข่โตประมาณ 2-3 ใบ (รอบธรรมชาติจะโตแค่ใบเดียว) และทำการฉีดยาเร่งให้ไข่ตกในเวลาที่ไข่โตได้ประมาณ 17-18 มม. จากนั้นไข่จะตกในอีก 36 ชม.ต่อมา ซึ่งก็เป็นเวลาที่จะทำการฉีดเชื้ออสุจิที่คัดแล้วเข้าไปในโพรงมดลูก หลังจากนั้นอสุจิกับไข่จะทำการปฏิสนธิกันในท่อนำไข่ และตัวอ่อนจะเดินทางมาฝังที่โพรงมดลูกเพื่อตั้งครรภ์ต่อไป
โอกาสสำเร็จจากการฉีดเชื้อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-15% ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพของเชื้ออสุจิ, จำนวนไข่ที่โตในรอบนั้น และความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก
9. เด็กหลอดแก้วมีโอกาสสำเร็จเท่าไหร่
การทำเด็กหลอดแก้วคือการกระตุ้นไข่ให้ได้หลายใบในหนึ่งรอบแล้วเก็บไข่มาปฏิสนธิกับอสุจิ จากนั้นเลี้ยงตัวอ่อนแล้วเลือกตัวอ่อนที่ดีฝังกลับเข้าโพรงมดลูก
โอกาสทำเด็กหลอดแก้วมีอัตราความสำเร็จกว้างมากขึ้นอยู่กับ อายุของฝ่ายหญิง เชื้ออสุจิฝ่ายชาย โรคที่เกี่ยวข้องเช่น ช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกมดลูก ภาวะไข่ตกยาก จำนวนไข่ในแต่ละรอบที่เก็บได้ ความหนาและรูปร่างของเยื่อบุโพรงมดลูก รวมถึงตัวอ่อนที่ได้มีคุณภาพดีแค่ไหน และได้ทำการคัดเลือกตัวอ่อนโดยการคัดโครโมโซมหรือไม่
ดังนั้นโอกาสของการสำเร็จอาจจะมีระยะตั้งแต่ 0-70% เลยทีเดียว
10. อายุของผู้หญิงที่สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้
ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือยังมีประจำเดือนอยู่ถือว่าสามารถทำเด็กหลอดแก้วได้ เนื่องจากร่างกายสามารถผลิตไข่เพื่อมาผสมกับอสุจิได้ แต่โอกาสสำเร็จส่วนใหญ่ขึ้นกับอายุ เนื่องจากคุณภาพและจำนวนไข่จะแย่ลงตามอายุของผู้หญิง โดยทั่วไปอายุที่มากกว่า 45 ปี จะมีโอกาสสำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้วน้อยมาก
11. AMH คืออะไร
เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับ AMH ซึ่งจะบ่งบอกถึงจำนวนไข่ที่จะผลิตได้ในแต่ละรอบเดือนหลังการกระตุ้นไข่ คนที่มีระดับ AMH สูงก็จะมีจำนวนไข่มากกว่า ทำให้มีโอกาสเลือกไข่ได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีระดับ AMH สูงจะดีกว่าเสมอไป เนื่องจากยังขึ้นกับอายุฝ่ายหญิงและภาวะบางอย่าง เช่น ภาวะไข่ตกยากที่มีจำนวนไข่เยอะแต่คุณภาพโดยรวมมักจะไม่ค่อยดี
12. ใครควรฝากแช่แข็งไข่
การแช่แข็งไข่คือการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ เช่นเดียวกับกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วเพียงแต่ไม่ได้ปฏิสนธิกับอสุจิ ก่อนการแช่แข็ง ซึ่งจุดประสงค์การแช่แข็งไข่คือ เก็บไข่ในวัยที่ไข่มีคุณภาพดีอยู่ เพื่อนำไปใช้ในอนาคตเพื่อการมีบุตรต่อไป
ผู้ที่ควรแช่แข็งไข่ ได้แก่ กลุ่มที่อาจจะต้องได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา เช่น กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ก็จะทำการเก็บไข่ไว้ก่อนการรักษา (ในกรณีที่ยังไม่ได้แต่งงาน), กลุ่มที่อายุเริ่มเยอะที่ยังไม่ได้แต่งงาน, กลุ่มที่ประวัติครอบครัวมีการทำงานของรังไข่หยุดเร็วกว่าปกติ
13. อยากมีลูกแฝดทำได้หรือไม่
การตั้งครรภ์แฝดอาจเกิดจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติหรือการตั้งครรภ์ที่เกิดจากเด็กหลอดแก้ว ซึ่งปัจจุบันพบการตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น เนื่องมาจากการทำเด็กหลอดแก้วที่เพิ่มขึ้น
การทำเด็กหลอดแก้วให้ได้ลูกแฝด คือ การนำเอาตัวอ่อนที่เกิดจากไข่ 1 ใบกับอสุจิ 1 ตัวปฏิสนธิกันได้เป็นตัวอ่อน 1 ตัว จากนั้นเราก็เลือกตัวอ่อน 2 ตัวใส่เข้าโพรงมดลูก ก็จะมีโอกาสได้ลูกแฝดต่อไป
จริงๆ แล้วการที่แพทย์ใส่ตัวอ่อน 2 ตัว จุดประสงค์หลักคือ ต้องการความสำเร็จที่เพิ่มขึ้น (มากกว่าใส่ตัวอ่อน 1 ตัว) มากกว่าความต้องการเพื่อให้ได้ลูกแฝด เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการตั้งครรภ์แฝดจะมีมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด, ครรภ์เป็นพิษ, เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์, ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำให้เรื่องเหล่านี้ก่อนการเลือกตัวอ่อนว่าจะใส่ตัวอ่อน 1 หรือ 2 ตัว
14. ทำหมันแล้วมีบุตรได้หรือไม่
การทำหมันมีทั้งหมันหญิงและหมันชาย ซึ่งหลักการคือไปตัดช่องทางการเดินทางของไข่และเชื้ออสุจิไม่ให้ออกมาปฏิสนธิได้ แต่อย่างไรก็ตามการทำหมันหญิงหรือชายไม่ได้ทำให้การผลิตไข่หรืออสุจิลดลง ถ้ารังไข่และลูกอัณฑะยังทำงานปกติ ก็สามารถที่จะมีบุตรได้โดยการแก้หมัน โดยการผ่าตัดต่อท่อนำไข่หรือนำเชื้ออสุจิ
การทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งคุณหมอจะไปดูดไข่หรืออสุจิจากแหล่งที่ผลิต เพื่อนำมาปฏิสนธินอกร่างกายก่อนเลี้ยงเป็นตัวอ่อนเพื่อฝังตัวต่อไป
15. การทำเด็กหลอดแก้วเจ็บไหม
การทำเด็กหลอดแก้ว ต้องได้รับการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวันประมาณ 10 วัน ซึ่งการฉีดยาจะใช้เข็มเล็กๆ ฉีดไม่เจ็บมาก จากนั้นจะทำการเก็บไข่โดยใช้เข็มยาวแทงผ่านช่องคลอดเข้าสู่อุ้งเชิงกรานไปในรังไข่ ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้ยาสลบทำให้คนไข้ไม่รู้สึกตัวระหว่างการเก็บไข่ แต่หลังจากเก็บไข่อาจจะมีอาการปวดหน่วงท้องเล็กน้อยประมาณ 1-2 วัน ส่วนขั้นตอนการใส่ตัวอ่อนจะคล้ายๆ กับการตรวจภายในซึ่งจะไม่เจ็บมากเช่นกัน
16. ใส่ตัวอ่อนแล้วต้องพักไหม
หลังใส่ตัวอ่อนแนะนำให้พักผ่อน โดยทั่วไปสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ปกติ เพียงแต่ไม่ควรทำกิจกรรมหนักเกินไป เช่น เดินมากเกินไป ยกของหนัก และต้องระวังการติดเชื้อ เป็นหวัด ท้องเสีย ท้องผูก ที่อาจมีผลต่อความสำเร็จได้
17. ถ้าอยากท้องภายในปีนี้ทำได้อย่างไร
เริ่มตั้งแต่การนับวันไข่ตกให้ถูกต้องคือ ไข่จะตกประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน (ในกรณีประจำเดือนมาปกติทุก 28 วัน) ก็จะแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้นวันเว้นวัน เช่น มีเพศสัมพันธ์ในวันที่ 12,14,16 (โดยนับวันมีประจำเดือนวันแรกเป็นวันที่ 1) ซึ่งถ้ามีเพศสัมพันธ์ในช่วงไข่ตกก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้
อีกวิธีในกรณีของคนที่ทำเด็กหลอดแก้ว เราก็สามารถกำหนดวันที่จะใส่ตัวอ่อนเข้าไป เพื่อให้สามารถทราบได้ว่าจะมีโอกาสคลอดในช่วงไหนของปี อย่างไรก็ตามการนับวันหรือการเลือกเวลาใส่ตัวอ่อนไม่ได้รับประกันว่าจะมีการตั้งครรภ์ในรอบนั้นเลย อาจต้องเผื่อระยะเวลาในกรณีที่ต้องทำเด็กหลอดแก้วในรอบต่อๆ ไปด้วย
18. วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF มีขั้นตอนอะไรบ้าง
เริ่มตั้งแต่วันที่มีประจำเดือนวันที่ 2 แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดและอัลตราซาวน์เพื่อดูความพร้อม ถ้าพร้อมแพทย์จะเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวัน ระหว่างนั้นอาจนัดมาตรวจเลือดและอัลตราซาวน์ทุก 3-4 วัน จนกระทั่งฉีดยากระตุ้นไข่ได้ประมาณ 8-12 วัน หลังจากนั้นแพทย์จะฉีดยาให้ไข่ตก และนับไปอีก 36 ชั่วโมงก็จะเป็นเวลาเก็บไข่ ในวันเดียวกันก็จะมีการเก็บเชื้ออสุจิเพื่อทำการปฏิสนธิและเลี้ยงตัวอ่อนไปอีก 5-7 วัน และแช่แข็งตัวอ่อนตัวที่ดีไว้ จากนั้นรอประจำเดือนมาในรอบต่อๆ ไปและจะนัดมาเตรียมมดลูกเพื่อใส่ตัวอ่อนต่อไป หลังใส่ตัวอ่อน 7-10 วัน แพทย์จะนัดมาตรวจว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่
19. การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายหลักๆ ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ใช้ในการกระตุ้นไข่และปัญหาของการมีบุตรยาก โดยทั่วไปจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณหลักแสนขึ้นไป
- เพราะอะไร? โรคคางทูมถึงส่งผลต่อสเปิร์ม
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน กับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ต่างกันอย่างไร
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน คืออะไร
- ฮอร์โมน P4 หรือโปรเจสเตอโรน สำคัญอย่างไร
- มะเร็งเต้านม ไม่เลือกเพศ
มีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือนัดหมายแพทย์ ติดต่อคลินิก iBaby ได้ที่ช่องทางด้านล่าง
Line: @iBaby หรือ https://lin.ee/xxIlgyJ
Tel: 021688640-43
Email: info@iBabyFertility.com
Website: https://ibabyfertility.com
WeChat: iBaby_Fertility